10 เทคนิคการสัมภาษณ์งานออนไลน์
(10 Recommended Online Interview Tips)
มื่อสถานการณ์โรคระบาดได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลายอย่าง จนทำให้สิ่งที่ไม่เคยทำ ก็กลับเป็นต้องทำเป็นประจำ วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) หลายอย่างที่เคยค่อย ๆ ทยอยปรับตัวอย่างช้า ๆ ก็ถูกเร่งให้สุกงอมอย่างรวดเร็วแบบที่ยากจะคาดคิดมาก่อน เราคิดว่าการสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์ก็เป็นหนึ่งในคลื่น New Normal ที่เพิ่งถูกซัดเขาฝั่งมา ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีบางบริษัทใช้วิธีสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์มาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่พบเจอ บริษัทในประเทศไทยก็ยังนิยมเรียกผู้สัมภาษณ์เข้าไปพบหน้าพบตา สนทนากันเป็นหลักอยู่ดี เพิ่งจะมาปัจจุบันนี้นี่แหละ ที่ความเว้นระยะห่างทำให้การสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์ได้กลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อผู้ที่ต้องหางานทำในตอนนี้ สำหรับผู้ที่ไม่เคยสัมภาษณ์งานมาก่อน ไม่ว่าจะแบบออนไลน์ หรือออฟไลน์ก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ชวนประหม่าเป็นอย่างมาก เพราะกดดันตัวเองว่าหากตอบคำถามไม่ดีก็จะทำให้ไม่ได้โอกาสถูกเข้ารับทำงาน ในบทความนี้ก็จะมีเคล็ดลับสำหรับผู้ที่ต้องสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์มาฝาก ให้ลองนำไปประยุกต์ใช้กัน จะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เชิญอ่านต่อได้เลยค่ะ
1. ก่อนสัมภาษณ์ – ค้นคว้าข้อมูลก่อนล่วงหน้า
(Pre-Interview : Research in Advance)
ผู้สัมภาษณ์งานหลายคนสร้างข้อผิดพลาดง่าย ๆ ด้วยการมีความรู้สึก “ไม่จริงจัง” กับการสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์ เมื่อนำไปเทียบกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อสัมภาษณ์งานแบบออฟไลน์ หากคุณคิดเช่นนั้นอยู่ ก้าวแรกก็อันตรายแล้วล่ะ การที่ไม่ได้นั่งเผชิญหน้าบนโต๊ะเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าเป้าประสงค์ในการสัมภาษณ์งานจะลดคุณค่าลงไปแม้แต่นิดเดียว
ประการแรกผู้สัมภาษณ์ควรทำการค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดียของบริษัทที่รับสัมภาษณ์ก่อนล่วงหน้า เพื่อหาข้อมูลเชิงลึก วิเคราะห์เป้าหมายของบริษัท เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรจะพรีเซนต์ตัวเองไปในทิศทางไหน บริษัทส่วนใหญ่จะมีคะแนนความประทับใจหากคุณรู้จัก และพูดถึงสิ่งที่บริษัททำอยู่ได้ ลองนึกภาพว่า หากผู้บริหารถามคุณว่า “รู้ไหมว่าบริษัทเราให้บริการด้านไหน ?” แล้วคุณตอบไม่ได้ดูสิคะ จะน่ากระอักกระอ่วนขนาดไหน
นอกจากนี้ อย่ากลัวที่จะพูดถึงปัญหาของบริษัท ลองตรวจสอบรีวิว หรือเว็บบอร์ดที่มีการพูดถึงบริษัทที่คุณต้องการจะสัมภาษณ์งาน ทำความเข้าใจว่าลูกค้าของบริษัทรัก และเกลียดอะไร อาศัยโอกาสนี้แสดงวิสัยทัศน์ว่าหากคุณมีโอกาสได้ทำงาน จะช่วยให้บริษัทดีขึ้นได้อย่างไร
ลองเข้าไปอ่านรีวิวในโซเชียลมีเดียของบริษัทเพื่อหาแนวทางการปรับปรุงมานำเสนอ
2. ก่อนสัมภาษณ์ – เตรียมคำตอบรอไว้ก่อน
(Pre-Interview: Prepare for the Answer)
สืบเนื่องต่อจากเทคนิคในข้อแรก เมื่อคุณรู้จักศึกษาจนรู้จักบริษัทดีในระดับหนึ่งแล้ว คุณจะสามารถเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทางบริษัทที่เรียกสัมภาษณ์ได้มีการชี้แจงจุดประสงค์ หรือเป้าหมายหลักของการสัมภาษณ์ให้ตั้งแต่ก่อนนัด แต่ถ้าไม่มีก็ลองคาดการณ์คำถามที่น่าจะถูกถามด้วยตนเองดูก่อนก็ได้
คุณจะอยู่ในตำแหน่งที่สุดขณะสัมภาษณ์ ถ้าหากคุณสามารถเชื่อมโยงระหว่างทักษะที่คุณมีเข้ากับรายละเอียดงาน (Job Description) และสิ่งที่บริษัททำได้ พยายามเตรียมคำตอบที่เสนอจุดขายตัวคุณ และเป็นคำตอบที่ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทได้อย่างเหมาะสม
เมื่อเตรียมคำตอบเสร็จแล้ว ก็อย่าลืมซ้อมตอบคำถามด้วย อาจจะใช้วิธีซ้อมพูดคนเดียวหน้ากระจก หรือให้เพื่อนมาแสดงเป็นคนสัมภาษณ์ก็ได้ เพื่อให้คำพูดนั้นชินปาก และจดจำเข้าไปในสมองพร้อมเรียกใช้งานได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ต้องพึงระวังเอาไว้ด้วยเช่นกัน แม้คุณจะมีคำตอบที่ซ้อมท่องมาเป็นอย่างดี แถมยังเก็งคำถามได้อย่างแม่นยำ แต่เวลาที่ตอบคำถามควรพูดให้เป็นธรรมชาติ เหมือนกำลังสนทนาตามปกติ อย่าตอบให้เหมือนกับท่องจดมาเป็นนกแก้วนกขุนทองล่ะ
ภาพจาก : https://www.pexels.com/th-th/photo/1766604/
3. ก่อนสัมภาษณ์ – จัดสถานที่ให้เรียบร้อย
(Pre-Interview: Tidy up the Place)
ข้อดีอย่างหนึ่งของการสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์ผ่านวิดีโอคอลก็คือ คุณสามารถเลือกสถานที่ที่คุณจะเข้าสัมภาษณ์ได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไปนั่งสัมภาษณ์ที่ไหนก็โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เพราะสถานที่ที่คุณเลือกสัมภาษณ์ก็สามารถบ่งบอกตัวตนของคุณได้เช่นกัน
ประการแรก ควรจะเลือกสถานที่ที่มีความมั่นคง ความมั่นคงในที่นี้ หมายถึง ที่ที่มีความสงบไม่มีเสียงรบกวน ฉากหลังมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย อาจจะเป็นในห้องนอน หรือห้องทำงานก็ได้ หลีกเลี่ยงการไปนั่งสัมภาษณ์ในที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ตามคาเฟ่, ฟู๊ดคอร์ท หรือร้านกาแฟ
ประการถัดมา ก็เป็นเรื่องของความสะดวกสบาย ไม่ว่าคุณจะสัมภาษณ์ผ่านทางอุปกรณ์ประเภทไหนก็ตาม จะสมาร์ทโฟน, โน๊ตบุ๊ก หรือคอมพิวเตอร์ พยายามจัดวางตำแหน่งให้ควบคุมอุปกรณ์ได้อย่างสะดวก และนั่งสัมภาษณ์ได้อย่างสบาย โดยพยายามหาท่านั่งที่สบายและเป็นธรรมชาติที่สุด โดยที่สามารถนั่งมองไปยังกล้องด้านหน้าได้โดยไม่ต้องก้มตัวให้เสียบุคลิกภาพ อาจจะหาหนังสือมารอง กล่องมาซ้อน ให้อุปกรณ์อยู่สูงขึ้นในระดับสายตา
อย่าลืมในส่วนของสภาพแสงภายในห้อง มันควรจะมีความสว่างเป็นธรรมชาติ ไม่มืดอึมครึม โดยแสงควรจะส่องมาตกที่หน้าของเรา เพื่อให้ผู้เข้าสัมภาษณ์สามารถมองเห็นหน้า และแววตาของเราได้อย่างชัดเจน เพราะแววตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ พื้นหลังควรพยายามจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ควรมีคนเดินผ่านไปผ่านมา หรือมีคนอื่นปรากฏแทรกเข้ามาภายในกล้อง
ทั้งหมดนี้จะทำให้คุณดูเป็นผู้สัมภาษณ์ที่มีความเป็นมืออาชีพ และสะท้อนให้เห็นถึงความเอาใจใส่ต่อการสัมภาษณ์งานในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
ภาพจาก : https://www.pexels.com/th-th/photo/7195543/
4. ก่อนสัมภาษณ์ – ตรวจสอบอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งาน
(Pre-Interview : Check Equipment Readiness)
ความไม่แน่นอนของเทคโนโลยีจะว่าไปก็คล้ายกับคนที่มีอารมณ์แปรปรวน บ่อยครั้งที่มันเกิดอาการอ๊องขึ้นมาทั้ง ๆ ที่เราใช้งานได้อย่างปกติเป็นประจำอยู่ทุกวัน แถมชอบจะมาอ๊องในจังหวะสำคัญด้วยสิ ดังนั้น เมื่อใกล้เวลาสัมภาษณ์ควรจะตรวจทานการทำงานของอุปกรณ์ทุกชิ้นให้ดีว่ามันทำงานได้ตามปกติ
จริง ๆ แล้วมีหลายจุดควรเช็ค อย่างเช่น ไมโครโฟน, กล้องเว็บแคม, การแชร์หน้าจอทำได้หรือไม่ (ในกรณีที่ต้องใช้), แบตเตอรี่ของอุปกรณ์ต่าง ๆ เหลือเพียงพอที่จะใช้งานได้ตลอดช่วงสัมภาษณ์หรือไม่ ฯลฯ ให้ดีก็ควรทดลองฝึกซ้อมวิดีโอคอลก่อนคนเดียวสักสองสามรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น
หากเป็นไปได้ อยากให้ลองบันทึกการวิดีโอคอลในมุมมองของคู่สนทนาดูด้วย เพื่อตรวจสอบว่าภาพของเราที่ปรากฏในกล้องเป็นอย่างไร ดีอย่างที่คิดไว้หรือเปล่า
ภาพจาก : https://www.pexels.com/th-th/photo/4226140/
5. ระหว่างการสัมภาษณ์ – สูดลมหายใจให้ลึกเข้าไว้
(During Interview : Take a Deep Breath)
นี่เป็นเทคนิคเล็ก ๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้ประสิทธิภาพในการตอบคำถามเวลาสัมภาษณ์ดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือการ สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ และปรับท่าทางให้ดูดีที่สุดก่อนที่จะตอบคำถามในแต่ละข้อ
หากคุณไปดูแนะแนวตัวอย่างการสัมภาษณ์ที่ยอดเยี่ยม คุณจะสังเกตพบว่า นอกจากคำตอบที่ดีแล้ว น้ำเสียงของผู้สัมภาษณ์จะตอบคำถามด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนด้วย การสูดลมหายใจก่อนที่จะตอบ จะช่วยให้คุณสามารถเปล่งเสียงตอบได้อย่างชัดเจน และมีกำลังลมพูดสิ่งที่ต้องการสื่อออกไปได้โดยไม่ขาดห้วง
นอกจากนี้ ความกดดันเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงอยู่แล้วไม่ว่าจะเผชิญหน้ากันในโลกจริง หรือการสัมภาษณ์แบบออนไลน์ก็ตาม การสูดลมหายใจ และจัดท่าทางให้ผ่อนคลาย จะทำให้คุณมีเวลาคิดสั้น ๆ ช่วยลดอาการประหม่าจากแรงกดดันได้ในระดับหนึ่งเลยล่ะ
6. ระหว่างการสัมภาษณ์ – พูดจะให้ฉะฉาน ชัดถ้อยชัดคำ
(During Interview : Speak Clearly)
ในการสัมภาษณ์ไม่ว่าจะออนไลน์ หรือออฟไลน์ก็ตาม การตอบคำถามได้อย่างชัดเจน มีความฉะฉาน ชัดถ้อยชัดคำเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งในการสัมภาษณ์แบบออนไลน์มีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถส่งผลต่อคุณภาพเสียงของคุณได้
อย่างแรกก็คือไมโครโฟน หลีกเลี่ยงการใช้ลำโพง (Speaker) ในการสัมภาษณ์ หากไม่มีไมโครโฟนก็ใช้หูฟังสมอลล์ทอล์กที่แถมมากับสมาร์ทโฟนก็ได้ เพื่อป้องกันปัญหาเสียงสะท้อนจากลำโพง และได้เสียงที่ชัดเจน
ต่อมาก็ความเร็วของอินเทอร์เน็ต ควรมีความเร็วที่เหมาะสมต่อกาารใช้งานวิดีโอคอล หากอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานไม่ได้มีความเร็วมาก ระหว่างสัมภาษณ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้กิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ อย่างเช่น การเปิด YouTube, ฟัง Spotify หรือ ดาวน์โหลดบิตทอร์เรนต์ (Bittorent) เป็นต้น
สุดท้ายก็อยู่ที่ตัวผู้พูด คุณไม่ควรพูดเร็วจนเกินไป พูดด้วยน้ำเสียงปกติ ด้วยความเร็วที่เหมาะสม ไม่เร็ว หรือช้าจนผิดธรรมชาติเกินไป นอกจากการพูดแบบนี้จะทำให้ดูเป็นคนมีความมั่นใจแล้ว ยังลดปัญหาที่คู่สนทนาจะฟังไม่ทัน หรือได้ยินไม่ชัดเจนด้วย
7. ระหว่างการสัมภาษณ์ – ต้องมองไปที่กล้อง
(During Interview : Look at the Camera)
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการสบตากับคู่สนทนาระหว่างสัมภาษณ์จะช่วยเสริมบุคลิกภาพให้ตัวผู้พูดได้เป็นอย่างดี ซึ่งการสัมภาษณ์แบบออฟไลน์อาจไม่ใช่เรื่องยากนัก ที่จะหาจุดโฟกัสที่ควรมอง แต่ในการสัมภาษณ์แบบออนไลน์มันจะต่างออกไปสักเล็กน้อย สิ่งที่คุณควรมองไม่ใช่หน้าคู่สนทนาที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ แต่ต้องมองไปที่กล้อง
บางคนอาจจะต้องฝึกสักเล็กน้อย เพื่อให้ชินกับการมองกล้องเวลาพูด และไม่ลืมตัวเผลอไปมองที่หน้าจอแทน ความจริงไม่ใช่เรื่องยากอะไร ขอแค่คุณมีสมาธิ ตั้งสติเอาไว้ว่าเวลาตอบคำถาม จงมองไปที่กล้อง เพื่อให้สายตาของคุณที่ปรากฏบนหน้าจอของผู้สัมภาษณ์ดูเหมือนว่าคุณกำลังมองตาของเขาอยู่
ภาพจาก : https://www.pexels.com/th-th/photo/320014/
8. ระหว่างการสัมภาษณ์ – หลีกเลี่ยงอาการเสียนิสัย และสนใจสิ่งอื่น (During Interview – Don’t be Spoilt)
เทคนิคในข้อนี้เป็นพื้นฐานของการสัมภาษณ์ที่ทำง่าย แต่มีโอกาสผิดพลาดมากที่สุด
อันที่จริงเราไม่อยากใช้คำว่า “เสียนิสัย” สักเท่าไหร่ แต่ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าควรใช้คำอะไรถึงจะเหมาะสม หลายคนจะเผลอแสดงอาการ “เสียนิสัย” ออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็มีได้หลายอาการ เช่น กัดเล็บ, ม้วนปลายผม, เขย่าขา, เคาะโต๊ะ, เขย่าขา ฯลฯ ซึ่งในระหว่างการสัมภาษณ์เราไม่ควรแสดงอาการเหล่านี้ออกมา นอกจากจะเสียบุคลิกภาพแล้ว ยังทำให้ดูเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเองอีกด้วย
อีกประเด็น คือ อย่าให้สิ่งใด ๆ ก็ตามมาดึงดูดความสนใจของคุณระหว่างการสัมภาษณ์ พยายามจดจ่อกับการสัมภาษณ์เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณเอาใจใส่กับการสัมภาษณ์นี้มากขนาดไหน และตัดสิ่งเร้าออกไปให้ได้มากที่สุด เช่น ปิดเสียงโทรศัพท์เพื่อไม่ให้มีการแจ้งเตือนมารบกวน, เก็บแมวไว้อีกห้อง, ฝากลูกไว้ให้คนอื่นช่วยเลี้ยงชั่วคราว ฯลฯ
ภาพจาก : https://www.pexels.com/th-th/photo/2558605/
9. หลังการสัมภาษณ์ – ผ่อนคลายอารมณ์
(Post-Interview: Be Relaxed)
การสัมภาษณ์แบบออนไลน์เป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่มีความท้าทายพอสมควร บางคนประสบอาการอยู่ในภวังค์ความเครียด และวิตกกังวลต่อผลตอบรับจนทานไม่ได้ นอนไม่หลับ ซึ่งหากคุณมีการสัมภาษณ์รอบต่อไปรออยู่ ตัวคุณในสภาวะตึงเครียดย่อมไม่อาจสัมภาษณ์ได้ดีเหมือนเดิมแน่ ๆ
ดังนั้น หลังการสัมภาษณ์เสร็จสิ้น ควรให้รางวัลตัวเองสักหน่อย อาจจะเป็นช็อกโกเลตสักแท่ง, ออกไปชมภาพยนตร์, หรือดินเนอร์มื้ออร่อย ฯลฯ แล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคลเลย หาอะไรก็ได้ที่ทำแล้วคุณจะรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจขึ้น
ภาพจาก : https://www.pexels.com/th-th/photo/1319795/
10. หลังการสัมภาษณ์ – วิเคราะห์คุณภาพการสัมภาษณ์ของตัวคุณเอง
(Post-Interview : Analyze your Interview)
หลังจากที่ผ่อนคลายสมองที่อ่อนล้า และตึงเครียดแล้ว มันก็คุ้มค่านะ หากคุณจะใช้เวลามาวิเคราะห์การสัมภาษณ์งานครั้งล่าสุดของคุณ หากความจำไม่ดี ก็แนะนำว่าระหว่างการสัมภาษณ์ก็ให้บันทึกวิดีโอหน้าจอเอาไว้เพื่อดูในภายหลัง เพื่อจะได้ไม่พลาดรายละเอียดที่อาจจะถูกมองข้ามไป
ไตร่ตรองดูว่าคำตอบนั้นดีแล้วหรือยัง มีอะไรที่ควรแก้ไขหรือไม่ หากมีก็ย้อนกลับไปอ่านทิปส์ในหัวข้อก่อนหน้านี้ เพื่อหาทางปรับปรุงคุณภาพการสัมภาษณ์งานของคุณให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
การสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์ผ่านระบบวิดีโอคอลอาจจะเป็นสิ่งใหม่ สำหรับใครหลายคน แต่เชื่อเถอะว่า มันจะเป็นสิ่งที่คุณต้องเผชิญอย่างแน่นอน ต่อให้สถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลายแล้วก็ตาม มันก็น่าจะกลายเป็นวิธีที่ถูกหยิบมาใช้งานต่อไปอยู่ดี
ที่มา : toggl.com