“ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่เป็น” กับดักของผู้นำ

“ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่เป็น” กับดักของผู้นำ

ที่ทำให้องค์กรล้าหลังในการแข่งขัน

ทำไมบางคนเป็นถึงผู้นำ แต่กลับทำงานร่วมกับคนอื่นไม่เป็น?

 ผมอยากตั้งคำถามนี้ให้ทุกคนลองคิดและลองมาหาคำตอบพร้อมกัน เพราะในโลกการทำงาน เราจะเห็นกันได้ว่า “การทำงานร่วมกัน” ถือเป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อการเติบโตขององค์กรในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นนี้ 

 ทักษะนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ในเวลาที่น้อยลง หากคนในองค์กรไม่มีทักษะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้นำ” ก็อาจทำให้องค์กรก้าวช้าและล้าหลังในการแข่งขันแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ได้

 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผมไปเจอบทความ When Leaders Struggle with Collaboration: ของ Harvard Business Review ซึ่งในบทความนี้มีงานวิจัยที่น่าสนใจ โดยเขาชี้ให้เห็นว่า สาเหตุหลัก ๆ ของความล้มเหลวในการทำงานร่วมกันมีอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง คือ การทำงานแบบไซโล (67%) ผู้นำไม่มีวิสัยทัศน์ในการทำงานร่วมกัน (32%) และผู้จัดการระดับสูงไม่อยากเสียการควบคุม (32%)

 จะเห็นว่า “ผู้นำ” ก็เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการทำงานร่วมกันเลยทีเดียว ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า อะไรเป็นกับดักที่ทำให้ผู้นำบางคนไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้

 1. มีการแข่งขันสูงและกลัวโดนคนอื่นบดบัง

 อย่างแรกคือ บางคนชอบเอาชนะและคิดว่าตัวเองจะต้องเป็นคนที่เก่งที่สุด จนทำให้กังวลใจเมื่อต้องแชร์ความสนใจของตัวเองกับผู้อื่น แต่ผู้นำจะต้องตระหนักว่าหากอยากพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จให้ได้ จะต้องมีการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่ทำงานด้วยตัวคนเดียวแล้วจะขึ้นไปสู่ความสำเร็จขั้นต่อไปได้ 

 2. มีลำดับขั้นในการทำงานสูง

 ผมคิดว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการทำงานร่วมกันคือ การทำงานแบบแยกส่วนกัน ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง หรือในบางทีอาจจะอยู่ในบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับลำดับขั้นและการเคารพต่อผู้มีอำนาจ จนในบางครั้งทำให้ทำงานล่าช้าและเกิดปัญหาเรื่องทีมเวิร์ก ดังนั้น หากอยากส่งเสริมการทำงานร่วมกันในองค์กร ผู้นำควรใช้คำสั่งให้น้อยลง และพูดคุยกับคนอื่นให้มากขึ้น

 3. ให้ความสำคัญกับ “ผลลัพธ์” มากกว่า “ความสัมพันธ์”

 โดยปกติแล้วเราต่างก็ชอบสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อที่จะได้พึ่งพาอาศัยกันและกัน แต่หากมองทางฝั่งของคนที่ประสบความสำเร็จสูงแล้ว บางคนเขาจะระมัดระวังตัวในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะเขาให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ในการทำงานมากกว่าความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ซึ่งในบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกันได้ เช่น ขาดความไว้วางใจในการทำงาน หรือขาดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น

 หากใครมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้ ผมแนะนำว่าให้ใช้เวลาในการทบทวนความสัมพันธ์ทั้งในชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เราหลีกเลี่ยงการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อทำความเข้าใจตัวเองและจัดการความสัมพันธ์ในชีวิตให้ดียิ่งขึ้น 

4. กลัวคนอื่นทำได้ไม่ดีพอ

 เราคงเคยรู้จักคำว่า “Perfectionist” กันมา ก็จะรู้ว่าคนประเภทนี้มีความใส่ใจในรายละเอียดสูงนะครับ ลองนึกภาพตามว่า ถ้าคนเหล่านี้เคยมอบหมายงานให้คนอื่นทำ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นที่น่าพอใจ จะเป็นอย่างไร? แน่นอนว่าคนเหล่านี้จะระมัดระวังเป็นพิเศษในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไป เพราะกลัวความไม่แน่นอนและต้องการใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงให้ได้มากที่สุด 

 แม้การระมัดระวังตัวจะเป็นเรื่องดี เพราะอยากให้งานออกมาดีที่สุด แต่หากมากเกินไปก็อาจทำให้เข้าไปควบคุมเพื่อนร่วมงานจนเกินพอดี หรือบางทีอาจทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการทำลายความไว้ใจในทีมลงอีกด้วย

 5. ไม่รู้วิธีการทำงานร่วมกับคนอื่น

 จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่นมามากมาย ผมคิดว่าอีกสาเหตุที่ทำให้ผู้นำบางคนไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ มาจากการที่ไม่เคยเรียนรู้ทักษะนี้อย่างจริงจังมาก่อน เพราะ “การทำงานร่วมกัน” ดูเหมือนจะเป็นทักษะธรรมดาทั่วไป แต่ก็มีองค์ประกอบหลายอย่าง ตั้งแต่การฟังอย่างตั้งใจ การจัดการความขัดแย้ง การแก้ไขปัญหาร่วมกัน การควบคุมตนเอง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ไปจนถึงการวางแนวทางการทำงานที่คำนึงถึงคนอื่น 

 ผมแนะนำว่าให้ลองจัดทำลิสต์พฤติกรรมดูว่า ตอนนี้เรากำลังขาดทักษะใดในการทำงานร่วมกันอยู่บ้าง เพื่อกำหนดขอบเขตของการพัฒนาตัวเองให้แคบลง ไปพร้อม ๆ กับจัดลำดับความสำคัญของการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น

 ทีนี้เมื่อเรารู้แล้วว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างสบายใจ หลังจากนี้ไปดูกันต่อว่า มีขั้นตอนใดบ้างที่จะทำให้ผู้นำสามารถพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ รวมถึงเรียกความไว้วางใจที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้

 ปรับภาพลักษณ์ใหม่ ให้เป็นผู้นำที่ดีขึ้น

 ผมเชื่อว่าพฤติกรรมของเราเป็นภาพสะท้อนให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนอย่างไร ซึ่งเราอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ ดังนั้น หากอยากทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเราสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี ก่อนอื่นเราจะต้องนำกรอบความคิดของ “Collaborator” มาปรับใช้ ดังนี้

 1. เปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลงและความคิดเห็นใหม่ๆ

 การที่เราเปิดรับมุมมองใหม่ ๆ จะสะท้อนให้เห็นถึงความเอาใจใส่และความเข้าอกเข้าใจต่อผู้อื่น แล้วเราจะเปิดกว้างต่อสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร? แนะนำว่าให้ลองพูดคุยและถามคำถามกับคนอื่นบ่อย ๆ เพื่อท้าทายมุมมองความคิดของตัวเอง และแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเราก็มีความสนใจในความคิดของพวกเขาเหมือนกัน

 2. ให้คุณค่ากับคนอื่น ๆ อย่างเท่าเทียมกัน

 อยากให้ทุกคนลองพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ตัวเองไม่ถนัด และพยายามลองทำอะไรให้เหมือนกับคนอื่น ๆ ดู เพื่อให้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เช่น การเข้าร่วมทีมอื่น ๆ หรือการลองทำงานอดิเรกที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยในขณะที่ทำสิ่งเหล่านี้ให้จดบันทึกว่าอะไรคือสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกสนุก และอะไรคือสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกไม่สบายใจ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจถึงการอยู่ในจุดเดียวกันกับคนอื่น

 3. เป็นคนที่พึ่งพาได้

 อย่างที่กล่าวไปว่า เราต่างก็ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายของตัวเอง จึงอยากให้ทุกคนลองคิดตามว่า เราต้องพึ่งพาใครและใครต้องพึ่งพาเรา หลังจากนั้นให้ใช้เวลาอยู่กับคนเหล่านี้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน นอกจากนี้ เรายังต้องตอบตัวเองให้ได้ด้วยว่า อะไรเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เราเปิดใจได้มากขึ้น เพราะการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจจะทำให้ทำงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

 นำสิ่งที่เรียนรู้มาปรับใช้กับชีวิตจริง

 หากต้องการให้คนในทีมเห็นว่าเราเป็นผู้นำที่สามารถทำงานเป็นทีมได้จริง ๆ ให้ลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้ เพื่อทำให้คนในทีมเปิดใจและกลับมาเชื่อมั่นอีกครั้ง

 1. มองหาช่องทางและโอกาสในการเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น

 บางครั้งผู้นำหลายคนอาจมัวแต่ทำงานจนลืมนึกถึงคนอื่นไป ผมอยากให้ลองมองหาโอกาสที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนดูครับ เช่น ยื่นมือเข้าไปช่วยสนับสนุนงานของคนในทีม หรือแชร์แนวคิด ประสบการณ์ และทรัพยากรให้กับเพื่อนร่วมงาน หลังจากนั้นให้ลองสังเกตดูว่าผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากเรามีปฏิกิริยาอย่างไร 

 หากนี่เป็นการยื่นมือเข้าไปช่วยครั้งแรก อย่าเพิ่งตกใจนะครับหากคนคนนั้นจะรู้สึกงุนงงหรือระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะพวกเขาอาจจะยังไม่ชินกับ “เราคนใหม่” ดังนั้นจงอดทนและให้เวลากับสิ่งนี้ไปสักพัก

 2. ให้โอกาสคนในทีมได้เฉิดฉายบ้าง

 เมื่อทำงานได้ดีแล้วมีคนมายกย่องชื่นชม ผมว่าการฉายสปอตไลต์นี้ไปให้คนในทีมด้วยก็เป็นวิธีที่ดีเหมือนกัน เช่น การบอกกับทุกคนในที่สาธารณะว่างานนี้จะไม่สำเร็จได้ถ้าไม่มีคนในทีม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและความภาคภูมิใจให้กับคนอื่น ๆ ด้วย

 3. หัดขอคำแนะนำจากผู้อื่นให้เป็น

 อีกวิธีหนึ่งที่คิดว่าจะช่วยให้คนอื่นเห็นว่าเราทำงานเป็นทีมจริง ๆ คือ การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น สิ่งนี้จะแสดงให้เห็นว่า แม้เราจะเป็นผู้นำ แต่ก็ยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตนและยังต้องการให้คนอื่นมาช่วยเติมเต็มความรู้ในการทำงานอยู่ 

 “การขอคำแนะนำ” เป็นวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยสร้างความไว้วางใจให้กับคนในทีม เพราะหากคนอื่น ๆ รู้สึกว่าผู้นำต้องการพวกเขาจริง ๆ ก็มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะกล้าเข้ามาขอความช่วยเหลือและขอการสนับสนุนจากผู้นำมากขึ้น

 อย่างที่บอกไปทั้งหมดนะครับ จะเห็นได้ว่าการเป็นผู้นำที่ดีสามารถเริ่มได้ด้วยการเสริมสร้าง “การทำงานร่วมกัน” แม้ว่าผู้นำบางคนอาจจะรู้สึกว่าการทำงานร่วมกับคนอื่นเป็นเรื่องยาก แต่จงอย่าหยุดนิ่งอยู่กับที่  ให้เรียนรู้และพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ แทน 

 ผมเชื่อว่า ผู้นำคนไหนที่เปิดกว้าง อ่อนน้อมถ่อมตน และเห็นคุณค่าในการทำงานร่วมกับผู้อื่นมากกว่า ผู้นำคนนั้นย่อมพาองค์กรไปได้ไกลกว่าแน่นอนครับ

ที่มา:Marketeer :รวิศ หาญอุตสาหะ

 อ้างอิง

– When Leaders Struggle with Collaboration: Ron Carucci & Luis Velasquez, Harvard Business Review – https://bit.ly/3BeHaxE

8 thoughts on ““ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่เป็น” กับดักของผู้นำ

  1. Right here is the perfect webpage for everyone who would like to understand this topic. You realize a whole lot its almost tough to argue with you (not that I actually would want toÖHaHa). You definitely put a new spin on a topic that has been written about for many years. Great stuff, just wonderful!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *