กลยุทธ์ดึงดูดพนักงาน Gen Z ด้วยการปรับธุรกิจเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคม
คน Gen Z หรือคนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2538 หรือปีค.ศ. 1995 เป็นต้นไป ซึ่งก็คือกลุ่ม First Jobber ในขณะนี้ จัดว่าเป็นเจนเนอเรชั่นที่เกิดและโตมากับยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง พร้อมที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้กับองค์กร ทั้งในแง่ของความเข้าใจในวิธีแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของยุคดิจิทัล แรงพลังอันเหลือล้น และความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำพาบริษัทเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลและโอกาสทางธุรกิจในโลกยุคใหม่ได้อย่างมากมาย การจะดึงดูดเหล่าคน Gen Z ให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กรจึงเป็นเรื่องที่หลาย ๆ บริษัทให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
ด้วยความที่กลุ่มคน Gen Z เป็นเจนเนอเรชั่นที่เชื่อมั่นและจริงจังในการวิ่งตามหาความฝัน พร้อมลงมือทำอย่างจริงจังเมื่อได้งานที่ตัวเองรัก และพวกเขายังมีความใส่ใจในอนาคตของตัวเองมาก พร้อมมองหาโอกาสใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะจากข้อมูลการสำรวจของ Laws of Attraction จากจ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) พบว่า สิ่งที่จะดึงดูดเหล่าคน Gen Z ไว้ได้นอกจากเงินเดือนค่าจ้างที่น่าพอใจแล้ว ก็คือการลงทุนในตัวพนักงานขององค์กร เพราะพวกเขามีความเชื่อว่ากำลังทำงาน “เพื่อ” องค์กรอยู่ ซึ่งเป็นแนวโน้มความภักดีต่อองค์กรมากกว่าคน Gen Y องค์กรจึงต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่า การทำงานในบริษัทนี้ทำให้ตัวเองได้พัฒนาและมีความเติบโตในด้านใดบ้าง เพราะการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองเป็นเรื่องที่คน Gen Z ให้ความสำคัญมาก
นอกจากความสำคัญของการเพิ่มคุณค่าของตัวเองจากงานที่ทำแล้ว พนักงาน Gen Z ยังสนใจเรื่องการให้คุณค่าต่อสังคมและความเป็นไปของโลกด้วย กลุ่มคน Gen Z จะชื่นชมองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะคน Gen Z ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมที่พวกเขาอยู่ การได้ทำงานในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง เป็นการสร้างความภาคภูมิใจและคุณค่าที่ว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่กำลังช่วยให้โลกนี้ดีกว่าเดิม
ความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนที่คน Gen Z ให้ความสำคัญครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น การคำนึงถึง Carbon Footprint ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจและการทำงาน บริษัทอาจมีนโยบายเช่น การลดเอกสารที่เป็น Hard Copy ที่เกินความจำเป็นแล้วเปลี่ยนมาใช้การส่งเอกสารแบบ Soft Files แทน หรือการจัดรถรับ-ส่งพนักงานจากบริษัทถึงสถานีรถไฟฟ้าหรือแหล่งขนส่งมวลชน ที่นอกจากจะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าได้ช่วยโลกลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับพนักงานด้วย
นอกจากด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีด้านการแสดงออกเพื่อหยุดความไม่ยุติธรรมทั้งหลายในสังคม เช่น การเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ที่มาจาก รูปร่าง ลักษณะ เพศ อายุ การศึกษา วัฒนธรรม และความพิการ องค์กรที่ Gen Z อยากทำงานด้วย จะต้องเป็นองค์กรที่ปฏิบัติต่อทุกคนบนพื้นฐานที่เท่าเทียม ให้คุณค่ากับทุกคนเท่ากัน รวมไปถึงการอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างของแต่ละบุคคล และองค์กรที่น่าอยู่ในนิยามของคน Gen Z ยังจะต้องมีจุดยืนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของคนในสังคมนั้น ๆ ด้วย เพราะการเติบโตมาในยุคที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วของคน Gen Z ทำให้คนเจนเนเรชั่นนี้ให้คุณค่ากับความเป็นไปในสังคมเป็นอย่างมาก และพร้อมชื่นชมความเป็นธรรมในทุกรูปแบบ
การพัฒนาบริษัทให้ดึงดูดคน Gen Z ด้วยนโยบายการให้คุณค่ากับการพัฒนาละแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากจะทำให้ได้พนักงานรุ่นใหม่ไฟแรง ที่พร้อมพาบริษัทก้าวผ่านยุค Digital Transformation ได้อย่างสวยงามแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ในแง่ของ CSR ที่ดีมาก ๆ ให้กับองค์กรอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการแล้ว สามารถศึกษาปัจจัยอื่น ๆ ที่จะช่วยดึงดูดคน Gen Z ให้พร้อมลุยและสร้างสรรค์สังคมที่ดีไปคุณได้ที่ Laws of Attraction
และถ้าคุณเป็นคน Gen Z หรือกำลังมองหาบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการให้คุณค่ากับคนและสังคม รวมไปถึงพร้อมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมแล้ว สามารถค้นหางานและสมัครงานกับองค์กรสมัยใหม่ ที่ตอบโจทย์ทุกคุณค่าของชีวิตได้ที่แอปพลิเคชั่น jobsDB ที่จะทำให้คุณได้เจอกับบริษัทที่อย่างร่วมงานด้วยจากการหางานผ่านมือถือง่าย ๆ ตามสไตล์โลกยุคดิจิทัล
ทีมา:JOBsDB