ขอร้องล่ะ อย่าพูดประโยคเหล่านี้ตอน สัมภาษณ์งาน

ขอร้องล่ะ อย่าพูดประโยคเหล่านี้ตอน สัมภาษณ์งาน

การสัมภาษณ์งาน เป็นอะไรที่หาความพอดียากเหมือนกัน เพราะถ้าคุณเตรียมตัวมากเกินไป คำตอบของคุณก็จะดู Fake เพราะคุณไปอ่านมาจากในอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้สมัครอีกสิบคนที่เหลือก็อ่านเหมือนกัน แต่ถ้าคุณไม่เตรียมตัวเลย คำตอบของคุณจะมีแต่น้ำ ไม่ได้ใจความ

แต่ประโยคเหล่านี้ เป็นประโยคที่ไม่ควรพูด เพราะมันสะท้อนถึงทัศนคติที่ไม่ดีของคุณหลายอย่าง และสำหรับการสัมภาษณ์งานที่ First Impression สำคัญมากๆ พูดประโยคเหล่านี้ออกไป อาจทำให้ทุกอย่างพังได้เลย

1.บริษัทนี้ทำอะไรบ้าง?

ก่อนมาสัมภาษณ์งาน คุณควรศึกษาบริษัทที่สมัครอย่างละเอียด บริษัทแม่ บริษัทในเครือ สินค้าและบริการทุกอย่างที่ทำ ไม่ว่าจาก Google หรือ เว็บไซต์บริษัทเอง

ประโยคที่ควรพูด : ถามคำถามที่แสดงว่าคุณได้ทำการบ้านมาอย่างดี จากนั้นค่อยเปิดประเด็นจากคำถามนั้นต่อ เช่น ผม/ดิฉัน ได้อ่านเกี่ยวกับโครงการล่าสุดที่บริษัทได้ทำ ความท้าทายของงานชิ้นนั้นคืออะไร?

2.กังวล

เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่คนเราจะกังวลเวลาสัมภาษณ์งาน แม้แต่คนที่สัมภาษณ์คุณก็มีความกังวล เพราะการพูดคุยกับคนแปลกหน้าไม่ใช่เรื่องง่าย

ถ้าเจอคำถามว่า ตอนนี้รู้สึกอย่างไร? รู้สึกกังวลไหม? คุณไม่ควรตอบว่า ผม/ดิฉันรู้สึกกังวล เพราะการยอมรับว่าตัวเองกังวลไม่ทำให้คุณหายกังวล หายจิตตกได้ และอาจทำให้กังวลมากกว่าเดิมด้วย

ประโยคที่ควรพูด : ให้ใช้คำว่า “ตื่นเต้น” แทน

เพราะคำว่าตื่นเต้นเป็นประโคด้านบวก ตื่นเต้นที่จะได้ทำงานที่นี่ ตื่นเต้นที่จะได้เริ่มต้นในอาชีพที่อยากทำ

3.อืม เอ่อ

เวลาเจอคำถามที่ยาก หรือคาดไม่ถึง ปากจะอ้าขึ้นทันที และเปล่งเสียงบางอย่างออกมาเช่น อา อืม เอ่อ …ซึ่งมันดูแย่ในสายตาคนสัมภาษณ์

ประโยคที่ควรพูด : “เป็นคำถามที่ดีครับ/ค่ะ”

ประโยคนี้เป็นประโยคคลาสสิค ที่ใช้ซื้อเวลาได้หลายวินาทีในการนึกคำตอบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นประโยคนี้ก็ได้ แต่ควรเป็นประโยคที่แสดงให้เห็นว่าคุณต้องใช้ความคิด และเวลาสักหน่อย ขออย่างเดียวอย่าเปล่งเสียงอะไรออกมา เพื่อแก้เขิน

4.เรื่องโกหก

คนส่วนใหญ่พูดเรื่องโกหกเพื่อให้ตัวเองดูดี หรือดูไม่แย่กว่าที่เป็น เช่นเดียวกับตอนสัมภาษณ์งาน การโกหกอาจทำให้คุณมีความสามารถเหนือผู้สมัครคนอื่นๆ แต่ถ้าการโกหกนั้นเป็นเรื่องซีเรียสจริงๆ เช่น เคยทำงานด้านนี้มาก่อนรึเปล่า? เคยใช้ซอฟต์แวร์อันนี้ไหม? คุณจะซวยภายหลังแน่นอน

ประโยคที่ควรพูด : ผมไม่คุ้นเคยกับโปรแกรม … ครับ แต่ผมมีประสบการณ์กับโปรแกรม … ซึ่งสามารถใช้จัดการข้อมูลได้ดีเช่นกันครับ

หากคุณไม่รู้เรื่องนั้นจริง ก็บอกไปตรงๆ แต่ให้หาตัวเลือกอื่นมาทดแทนด้วย ถ้าทำ Graphics คุณอาจไม่ชอบ Photoshop แต่เป็นเซียน Illustrator ก็ได้

5.กล่าวลอยๆ

ส่วนใหญ่เวลาเล่าข้อดีของตัวเอง ใครจะพูดอะไรก็ได้ และเชื่อเถอะว่าคนอื่นๆ ก็ใส่กันไม่ยั้ง ฉะนั้นแทนที่จะพูดว่า “ผลงานที่โดดเด่นของดิฉัน คือ สามารถเพิ่มยอด Pageviews และส่งผลให้มียอดคลิก Ads ในเว็บไซต์มากขึ้น”

ประโยคที่ควรพูด : ดิฉันพัฒนา User Experience ของเว็บไซต์ให้ใช้งานง่าย ยอด Pageview เพิ่มขึ้น 50% และ รายได้จากการคลิก Ads

6.เกลียดงานที่ทำอยู่

เห็นได้ชัดว่าถ้าที่เก่าตอบโจทย์คุณทุกอย่าง คุณคงไม่หางานใหม่ แต่คุณไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นในที่เก่าทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องไม่ดี เรื่องส่วนตัว

ประโยคที่ควรพูด : ผมรักในงานที่ทำอยู่ และมันช่วยสอนผมทักษะหลายด้าน แต่ตอนนี้ผมอยากรู้เรียนรู้เพิ่มขึ้น และผมคิดว่าผมสามารถสร้างสรรค์งานที่ดี ให้บริษัทนี้ได้ครับ

ประเด็นคือให้พูดถึงด้านดีของงานเดิม และพูดถึงโอกาสในงานใหม่

7.หัวหน้าเก่าแย่มาก

ถึงแม้ว่าหัวหน้าของคุณอาจจะแย่จริงๆ และเป็นเหตุผลหลักให้คุณอยากหางานใหม่ แต่คนที่สัมภาษณ์คุณ ไม่รู้เรื่องพวกนั้น และไม่มีทางที่คุณจะทำให้เขาเชื่อได้ในเวลาสั้นๆ

ประโยคที่ควรพูด : ไม่ควรพูด ควรวิจารณ์อะไรเกี่ยวกับหัวหน้าคนก่อนเลย เพราะคนที่สัมภาษณ์คุณอาจเป็นว่าที่หัวหน้าของคุณก็ได้

8.ไม่รู้

“ผมไม่รู้ครับ ดิฉันไม่ทราบค่ะ” เป็นคำตอบที่ห้วน และไม่มีใครชอบฟัง

ประโยคที่ควรพูด : ดิฉันยังไม่แน่ใจเรื่องตัวเลขค่ะ แต่ดิฉันสามารถหาได้จากวิธีการ ดังนี้ 1 2 3…

บางครั้งคนที่สัมภาษณ์คุณก็ถามคำถามยากๆ เพื่ออยากดูการรับมือของคุณในการแก้ปัญหา อยากเห็นกระบวนการความคิดของคุณ

9.จุดอ่อนที่ไม่ใช่จุดอ่อน

คำถามคลาสสิคที่ทุกคนต้องเจอ จุดอ่อน/ข้อเสียของคุณคืออะไร? ถ้าคุณตอบความจริง 100% คุณอาจหางานที่ไหนไม่ได้เลย จึงเป็นเหตุผลให้บางครั้ง คุณเลือกบอกข้อเสียที่มันมองได้สองด้าน เช่น ดิฉันเป็นคนพูดตรงๆ ค่ะ ผมชอบทำงานคนเดียว เป็นต้น

ประโยคที่ควรพูด : ข้อเสียที่แท้จริงของคุณ (บางส่วน) และวิธีการเอาชนะข้อเสียเหล่านั้น

การพูดข้อเสียที่แท้จริงของคุณ ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกคนก็มีข้อเสีย แต่เมื่อรู้ข้อเสียแล้ว คุณจัดการกับมันได้ดีแค่ไหน?

10.คำหยาบ

แค่ “วะ เว้ย แม่ง” ก็ไม่สุภาพแล้ว ถึงแม้ว่าคุณจะสัมภาษณ์งานในอุตสาหกรรมที่สบายๆ ไม่ใช่พนักงานผูกไทด์ แต่ในการสัมภาษณ์งาน คุณควรพูดให้สุภาพที่สุด ถึงแม้คนที่สัมภาษณ์คุณจะเป็นกันเอง และพูดคำหยาบด้วยก็ตาม

11.เงินเดือนเท่าไหร่

หากมีคำถามว่า “มีคำถามอะไรรึเปล่า?” ห้ามถามว่า เงินเดือนเท่าไหร่คะ/ครับ คำถามนี้สามารถถามได้กับคนที่โทรมานัดสัมภาษณ์ หรือ ในตอนที่บริษัทตัดสินใจรับคุณเข้าทำงานแล้วเท่านั้น

12.ไม่มีคำถาม

และการไม่ถามคำถามอะไรเลย แสดงถึงความไม่ใส่ใจ ไม่สนใจอยากรู้อะไรเลย

ประโยคที่ควรพูด : สิ่งที่ท้าทายที่สุดของการทำงานในอุตสาหกรรมนี้คืออะไร?

การถามความคิดเห็น ประโยคปลายเปิดเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด เวลาต้องการคำถาม

13.เมื่อไหร่ถึงจะรู้ผล

การถามคำถามนี้ ไม่ต่างจากถามว่า “ตกลงจะซื้อไหม” ซึ่งเหมือนการบังคับ กดดันมากเกินไป และว่ากันตามตรง คุณเป็นคนไปของาน คุณต้องถ่อมตัวให้มากที่สุด

ประโยคที่ควรพูด ก่อนจากลา : ขอบคุณที่ให้เกียรติเรียกดิฉันมาสัมภาษณ์ค่ะ หรือ ขอบคุณที่สละเวลาค่ะ

ทั้ง 13 ข้อ อาจไม่ใช่สูตรตายตัวที่จะทำให้คุณสมหวัง แต่อย่างน้อยคุณน่าจะได้ไอเดียในการสัมภาษณ์งานอยู่บ้าง

ขอให้คุณโชคดี

Date: 19/09/2017Author: Marketeer Team

ที่มา : Hubspot

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *